วันศุกร์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2557

นิกายเซน หนังสือ "คำสอนเซน ภาคเซนในสายเลือด ปรมาจารย์ตั๊กม้อ"-คำนำ

คำนำ

หนังสือ "คำสอนเซน" ภาคเซนในสายเลือด ปรมาจารย์ตั๊กม้อ เล่มนี้ ผู้เขียนได้เขียนขึ้นเนื่องจากมีความสนใจ ในคำสอนของพระอาจารย์โพธิธรรม (ตั๊กม้อ) ท่านเป็นพระอินเดียรูปเดียว ที่ได้นำเอาหลักพระพุทธศาสนาอันแท้จริง เข้ามาเผยแผ่ในประเทศจีน และมีผู้สืบทอดคำสอนของท่านจนเป็นที่ยอมรับทั่วไป และได้ยกย่องให้ท่านเป็นสังฆปรินายกองค์ที่ 1 แห่งนิกายเซนในประเทศจีน ในส่วนของ "หมวดที่ 1 เซนในสายเลือด" นั้น ผู้เขียนได้เขียนเกี่ยวกับอัตชีวประวัติความเป็นมาของท่าน ตั้งแต่ท่านได้ตัดสินใจเดินทางมาจากเมืองปัลลวะ ประเทศอินเดียทางตอนใต้ จนท่านได้เข้ามาพำนักในเมืองจีน และผู้เขียนได้เขียนถึงเหตุการณ์สำคัญๆที่เกิดขึ้นในชีวิตท่าน ซึ่งมีผลทำให้คำสอนของท่านได้ถูกสืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้ ในส่วนของ "หมวดที่ 2 หลักธรรมชาติ" นั้น ผู้เขียนได้นำเอาหลักธรรมอันคือธรรมชาติ ที่ปรากฏมาในคำสอนของพระอาจารย์โพธิธรรม (ตั๊กม้อ) มาเขียนอธิบายข้ออรรถข้อธรรมนั้นตามความเข้าใจของผู้เขียนเอง และเป็นการเขียนที่ตรงต่อหลักคำสอนเซนของคณาจารย์ ผู้ซึ่งเป็นครูสอนเซนในยุคก่อนๆ โดยเขียนขึ้นด้วยการอิงหลักความเป็นธรรมธาตุในสองลักษณะ คือ อสังขตธาตุ (ธรรมธาตุแห่งธรรมชาติที่ว่างเปล่าของมันอยู่อย่างนั้น) และสังขตธาตุ (ธรรมธาตุแห่งการปรุงแต่ง) และท้ายที่สุดใน "หมวดที่ 3 สายเลือดแห่งความเป็นพุทธะ" เป็นการเขียนขึ้นด้วยการแปลจาก คำสอนของพระอาจารย์โพธิธรรม (The Zen teaching of Bodidharma) ซึ่งเป็นคำสอนที่ถูกรวบรวมไว้โดยคณาจารย์เซนรุ่นหลัง ผู้ซึ่งเป็นผู้สืบทอดคำสอนของพระอาจารย์โพธิธรรม เป็นคำสอนที่ถูกรวบรวมมาจากลูกศิษย์ของท่านหลายคน ที่ได้บันทึกคำสอนอันคือเทศนาธรรมของท่านไว้ แต่ทั้งนี้ผู้เขียนได้เลือกแปลเฉพาะคำสอนที่น่าสนใจ และสามารถเป็นหลักให้ผู้อ่านได้อ่านเพื่อทำความเข้าใจ ให้ตรงต่อความเป็นจริงตามหลักธรรมชาติ และสามารถนำไปปฏิบัติตามธรรมชาตินั้นได้

ด้วยคำสอนของพระอาจารย์โพธิ ธรรม เป็นคำสอนที่ตรงต่อธรรมที่พระพุทธองค์ได้ประกาศไว้ เป็นคำสอนที่ชี้ตรงต่อความเป็นธรรมในความเป็นธรรมชาติของมัน ก็ด้วยคำพยากรณ์ของพระพุทธองค์ที่ได้ทรงตรัสไว้ว่า พระพุทธศาสนาจักเจริญรุ่งเรืองในแถบสุวรรณภูมิต่อไปในภายภาคหน้า โดยเฉพาะในประเทศไทย ผู้เขียนมีเจตนารมณ์ที่จะเผยแผ่คำสอนธรรมอันคือธรรมชาตินี้ ให้เป็นที่ยอมรับทั่วไปในบ้านเกิดเมืองนอนของผู้เขียนเอง ผู้เขียนจึงหวังว่าคำสอนอันคือธรรมชาติแห่งเซนนี้ จะเป็นที่ยอมรับแพร่หลายทั่วไปในประเทศไทยในกาลข้างหน้า ผู้เขียนมีความหวังว่าหากผู้อ่านได้อ่านหนังสือเล่มนี้ และมีความเข้าใจในธรรมชาติอันแท้จริงนี้แล้ว ก็ขอให้ผู้อ่านจงโปรดได้ช่วยสงเคราะห์ ให้ธรรมชนิดนี้เป็นธรรมทานแก่บุคคลอื่นๆ ซึ่งเป็นผู้ที่ยังมืดมนและอับจนหนทาง โดยหวังว่าผู้อ่านจะได้โปรดช่วยชี้ทางอันคือหนทางสว่างที่แท้จริง ให้กับบุคคลอื่นผู้ที่เขามีความสนใจ และมีศรัทธาที่จะปฏิบัติธรรมเพื่อหลุดพ้นในชาตินี้

และท้ายที่สุดนี้ ผู้เขียนหวังว่าธรรมอันคือคำสอนเซนที่เกี่ยวกับธรรมชาตินี้ จะช่วยให้ผู้อ่านทุกคนและผู้ที่สนใจ ได้ค้นพบหนทางที่แท้จริง และนำพาชีวิตตนเองให้พ้นจากความทุกข์ยากทั้งปวงได้ และสามารถดำรงชีวิตได้ตามปกติ ในฐานะที่ตนเองได้เกิดมาเป็นมนุษย์ และได้มีบุญวาสนานำพาชีวิตของตน เข้ามาพึ่งพิงความร่มเย็น ภายใต้ร่มเงาแห่งบวรพระพุทธศาสนา ในห้วงเวลาขององค์พระศาสดาตถาคตเจ้า

ขอแสดงความนับถือ
ครูสอนเซน อาจารย์ราเชนทร์ สิมะสุนทร
9 มกราคม 2557

สารบัญ

หมวดที่ 1 เซนในสายเลือด
บทที่ 1 การณ์เป็นไปเช่นนั้น
บทที่ 2 เซนในสายเลือด
บทที่ 3 ปรมาจารย์ตั๊กม้อ
บทที่ 4 เดินทางสู่การเพาะบ่ม
บทที่ 5 บัวบานกลางหิมะสีแดงฉาน
บทที่ 6 ตายเพื่ออิสรภาพที่แท้จริง
บทที่ 7 แต่งตั้งธรรมทายาท
บทที่ 8 การจากไปด้วยรองเท้าข้างเดียว
บทที่ 9 พระมหากัสสปะ

หมวดที่ 2 หลักธรรมชาติ
บทที่ 10 เข้าสู่กระแสธรรมอันคือ ธรรมชาติ
บทที่ 11 ความทุกข์ยาก คือ เมล็ดพันธุ์พืชแห่งพุทธะ
บทที่ 12 ความเงียบบนเส้นทางนั้น
บทที่ 13 วิถีที่เรียบง่าย
บทที่ 14 "ตถตา"มันเป็นเช่นนั้นของมันเองอยู่อย่างนั้น
บทที่ 15 วิถีธรรมชาติสู่ความเป็นธรรมชาติ
บทที่ 16 เข้ามาได้เลย
บทที่ 17 โลกแห่งความสมบูรณ์
บทที่ 18 ความบริบูรณ์แห่งมรรค
บทที่ 19 จิต
บทที่ 20 การเกิดขึ้นแห่งธรรม
บทที่ 21 ธรรมชาติยังคงอยู่
บทที่ 22 ความเพียรพยายาม
บทที่ 23 การเข้าถึง
บทที่ 24 อิสรภาพที่แท้จริง
บทที่ 25 ทางสายกลาง
บทที่ 26 นาข้าวแห่งพุทธโคดม
บทที่ 27 พระพุทธเจ้าทั้งหลายมิได้แสดงธรรมอะไรเลย
บทที่ 28 ไม่มีอริยสัจ
บทที่ 29 เคลื่อนไหวดั่งสายลม
บทที่ 30 ธรรมชาติจำลอง
บทที่ 31 ต้นธาตุต้นธรรม
บทที่ 32 จิตที่ปรุงแต่งไปในความว่างเปล่า

หมวดที่ 3 สายเลือดแห่งความเป็นพุทธะ
บทที่ 33 ค้นหาตัวเอง
บทที่ 34 ธรรมชาติแห่งพุทธะ
บทที่ 35 มายา
บทที่ 36 พุทธะคือหน้าที่
บทที่ 37 จิตสู่จิต
บทที่ 38 ปลดปล่อยตนเอง
บทที่ 39 นิพพาน
บทที่ 40 ความเป็นพุทธะ
บทที่ 41 กรรม
บทที่ 42 ปฏิบัติตามธรรมชาติ










“สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ”
“การให้ธรรม ย่อมชนะการให้ทั้งปวง”

ครูสอนเซน
อาจารยฺราเชนทร์ สิมะสุนทร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น