วันศุกร์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2557

นิกายเซน หนังสือ "คำสอนเซน ภาคเซนในสายเลือด ปรมาจารย์ตั๊กม้อ"-บทที่ 5 บัวบานกลางหิมะสีแดงฉาน

บทที่ 5 บัวบานกลางหิมะสีแดงฉาน

ท่านโพธิธรรมหรือที่ชาวจีนในยุคนั้น เรียกท่านว่า "ปรมาจารย์ตั๊กม้อ" ท่านเป็นพระภิกษุผู้มีดวงตากลมใหญ่ผิวสีดำคล้ำ และด้วยเอกลักษณ์ของท่านเวลาที่ท่านเดินทางไปไหนมาไหน เมื่อถึงคราวต้องตากแดดที่มีสภาพร้อนจัด ท่านจึงมักจะเอาชายจีวรที่อยู่เบื้องล่างขึ้นมาคลุมศีรษะ เพราะฉะนั้นภาพวาดส่วนใหญ่ที่ศิลปินผู้มีเซนอยู่ในสายเลือด ได้วาดขึ้นเพื่อเป็นภาพประกอบโกอานไขปริศนาธรรม หรือวาดขึ้นโดยเฉพาะเพื่อเป็นสัญลักษณ์ สื่อความหมายไปในทางธรรมนั้น ก็จะปรากฏเป็นภาพของปรมาจารย์ตั๊กม้อที่มีร่างกายสูงใหญ่ และมีหนวดเครารุงรัง และที่ขาดไม่ได้เลยก็คือมีการวาดภาพโดยมีผ้าคลุมศีรษะ และอยู่ในท่านั่งสมาธิหันหน้าเข้ากำแพงเสียเป็นส่วนใหญ่ เหตุที่ทำให้ท่านโพธิธรรมตั๊กม้อได้นั่งอยู่ในฌานสมาธิถึงเก้าปีเต็มนั้น เป็นเพราะวาระกรรมได้แสดงถึงเนื้อหากรรม ให้เป็นไปในภาวะที่ยืดเยื้อ และเป็นไปในระหว่างบุคคลสองคนที่มีกรรมต่อกัน ทั้งในด้านกุศลและกรรมวิบาก และเป็นวาระกรรมที่มีความสำคัญยิ่งสำหรับการเริ่มต้นนับ "หนึ่ง" ซึ่งถือเป็นก้าวย่างที่ได้ก้าวไปข้างหน้าแล้วอย่างแท้จริง สมดั่งเจตนารมณ์ในการที่ท่านโพธิธรรมได้มาเหยียบแผ่นดินจีนในครั้งนี้ เหตุเพราะท่านได้พบลูกศิษย์คนสำคัญของท่าน ซึ่งลูกศิษย์คนนี้เป็นลูกศิษย์คนแรกและคนเดียวที่เข้าใจท่าน และสามารถรับการถ่ายทอดธรรมอันคือธรรมชาติ เป็นทายาทที่แท้จริงในการสืบต่อธรรม ด้วยการผ่านสู่ "ใจต่อใจ" ระหว่างครูกับศิษย์ และเป็นเหตุให้ธรรมนั้นได้สืบต่อกันไปจนเป็นที่แพร่หลาย ยอมรับกันอย่างทั่วไปภายในแผ่นดินจีนตอนใต้หลังจากนั้น แต่ด้วยเหตุปัจจัยเป็นกุศลกรรมอันสำคัญยิ่งนี้ ได้เกิดขึ้นจากกรรมวิบากนั้น

ก็ หลังจากที่ท่านโพธิธรรมได้เดินทางออกมาจากพระราชวัง ในคราวที่ท่านได้รับกิจนิมนต์เพื่อไปเทศนาธรรมให้องค์จักรพรรดิฟัง ท่านก็ออกเดินทางรอนแรมไปเรื่อย หลังจากที่ท่านได้อุปสมบทให้กับลูกศิษย์เป็นพระรูปหนึ่งที่ชื่อ เชง ฟุ ท่านโพธิธรรมก็ได้พำนักพักอาศัยอยู่ทางตอนเหนือของเมืองหลวง เป็นระยะเวลานานนับสิบปี และภายในปี พ.ศ. 496 จักรพรรดิก็ได้รับสั่งให้สร้างวัด เพื่อถวายเป็นราชกุศลขึ้น เป็นการก่อสร้างที่อยู่ติดกับบริเวณภูเขาซ่งที่อยู่ทางเมืองโหหนาน ซึ่งเมืองนี้อยู่ทางทิศใต้ของเมืองโลหยางซึ่งเป็นเมืองหลวง วัดนี้องค์จักรพรรดิสร้างขึ้นเพื่อให้นักบวชพระภิกษุสงฆ์ในนิกายเซน เข้ามาพักอาศัยเพื่อเป็นที่หลบลี้และได้ขัดเกลาจิตใจของตนเอง วัดแห่งนี้นี่เองที่ชื่อว่า "วัดเส้าหลิน" เป็นวัดซึ่งท่านโพธิธรรมได้มาสอนการฝึกออกกำลังกายแบบโยคะ ให้แก่ภิกษุในภายหลังที่ท่านได้ออกจากสมาบัติแล้ว

เมื่อท่านโพธิธรรม ได้ทราบข่าวว่าวัดเส้าหลินได้สร้างเสร็จแล้ว และเป็นวัดที่มีความสวยงามอยู่กลางหุบเขา และบริเวณเทือกเขาเหล่านั้นเป็นที่สงบวิเวก เหมาะสำหรับการปลีกตัวออกจากหมู่คณะเพื่อเก็บตัวบำเพ็ญภาวนา ท่านโพธิธรรมจึงตัดสินใจเดินทางมายังบริเวณหุบเขาแห่งนี้ เพื่อหาที่สงบพักผ่อนใจให้กับตนเอง แต่ในระหว่างทางก่อนถึงแม่น้ำแยงซี เพื่อจะข้ามแม่น้ำไปยังฝั่งหุบเขาเฉาฉือ ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของภูเขาซ่ง ท่านก็ได้พบพระภิกษุรูปหนึ่ง ซึ่งต่อมาได้เป็นธรรมทายาทเพื่อสืบสายโลหิตแห่งเซน ภิกษุรูปนี้มีชื่อว่า "เสินกวง" ท่านเสินกวงเป็นเจ้าอาวาสวัดที่ท่านโพธิธรรมได้แวะพักอาศัย ก่อนที่จะเดินทางไปถึงจุดหมาย เสินกวงเป็นพระที่มีความจดจำพระสูตรได้แม่นยำ และเป็นนักเทศนาธรรมตัวยงในแถบนั้นโดยหามีใครเทียบไม่ ก็ในขณะนั้นเป็นวันที่ท่านโพธิธรรมเดินทางมาถึง และท่านเสินกวงกำลังขึ้นเทศน์ธรรม ให้แก่สาธุชนผู้มีศรัทธาได้ฟังกันภายในหอประชุมบริเวณวัด ท่านเสินกวงถึงแม้จะมีสัญญาความจำได้หมายรู้อย่างยอดเยี่ยม แต่ท่านก็ยังมิใช่เนื้อนาบุญอย่างแท้จริง ท่านเสินกวงมีความสามารถอ่านอธิบายธรรมในพระสูตรได้ แต่ท่านเสินกวงกลับไม่มีความสามารถที่จะเข้าใจตระหนักชัด ในธรรมที่ท่านกำลังสาธยายเลย เมื่อท่านเสินกวงได้เทศนาธรรมจบแล้วจึงเดินลงมาจากพระธรรมาสน์ เพื่อพูดคุยกับอาคันตุกะภิกษุแปลกหน้าผู้มาเยือนในเช้าของวันนั้น แต่การพูดคุยกลับกลายเป็นเหตุให้ท่านเสินกวง ได้ทำร้ายร่างกายพระอาคันตุกะซึ่งมาจากเมืองปัลลวะอินเดียรูปนี้ โดยการสนทนาธรรมนั้น ท่านโพธิธรรมได้พูดออกมาอย่างตรงไปตรงมาว่า ท่านเสินกวงถึงแม้จะเป็นพระนักเทศน์ ที่สามารถเทศนาธรรมได้อย่างคล่องแคล่ว แต่ก็ยังมิได้บรรลุธรรมอะไรเลย เพราะท่านโพธิธรรมได้นั่งฟังธรรมเทศนาอยู่ด้วย โดยท่านได้นั่งอยู่แถวหลังสุดและได้ฟังธรรมเทศนานั้น จนทำให้ท่านรู้ได้ด้วยเนื้อหาธรรมที่ถูกเทศน์ออกมาในขณะนั้นว่า ท่านเสินกวงยังไม่ได้ตระหนักชัดรู้แจ้งภายในธรรมชาติดั้งเดิมแท้เลย เมื่อท่านได้พูดออกไปแบบนี้อย่างตรงๆไม่อ้อมค้อม ก็เป็นเหตุให้ท่านเสินกวงเกิดโทสะ เอาสายลูกประคำเม็ดใหญ่ฟาดเข้าไปที่ปากของท่านโพธิธรรม จนเป็นเหตุให้เลือดไหลออกมากลบปาก และฟันด้านหน้าของท่านหักออกไปถึงสองซี่ เมื่อเหตุการณ์ซึ่งเป็นกรรมวิบากได้เกิดขึ้นเช่นนี้แล้ว ท่านโพธิธรรมจึงหันหลังออกไปจากที่นั่นไปโดยมิได้กล่าวลา

แต่หลังจาก นั้นด้วยความสำนึกผิดของท่านเสินกวง ในการล่วงละเมิดประทุษร้ายพระอาคันตุกะผู้มีปัญญา และด้วยความที่ทราบต่อมาภายหลังว่าพระอินเดียรูปนั้น ก็คือท่านพระอาจารย์โพธิธรรมซึ่งเดินทางมาจากเมืองปัลลวะ เพื่อเข้ามาเผยแผ่ธรรมอันคือคำสอนตามธรรมชาติที่แท้จริง ให้แก่ชาวจีนแผ่นดินใหญ่ ท่านเสินกวงจึงรู้สึกเสียใจในการกระทำของตน และท่านเสินกวงมีเจตนาที่จะกราบขอขมาลาโทษ และมีความตั้งใจจริงที่จะฝากตัวเป็นศิษย์ของท่าน และมีความตั้งใจอย่างแน่วแน่เด็ดเดี่ยวที่จะดูแลรับใช้ท่านโพธิธรรม จนตราบที่ท่านโพธิธรรมจะหมดลมหายใจละจากโลกใบนี้ไป ท่านเสินกวงเมื่อรู้สึกตัวและมีความละอายใจ จึงรีบเดินทางออกตามหาท่านโพธิธรรม

เมื่อท่านโพธิธรรมได้เดินทางจนมา ถึงริมฝั่งแม่น้ำแยงซี แต่ตอนนั้นเป็นเวลาพลบค่ำแล้ว เรือข้ามฝากไปฝั่งโน้นก็หามีไม่ ท่านโพธิธรรมจึงได้หยิบต้นอ้อมากำหนึ่ง และเหยียบอ้อกำนั้นข้ามฝั่งไป ก็ด้วยน้ำหนักคนมีน้ำหนักมาก หากเหยียบไปบนต้นอ้อซึ่งมีน้ำหนักเบา ต้นอ้อก็ต้องจมน้ำไปเป็นเรื่องปกติธรรมดา แต่ด้วยอำนาจแห่งอภิญญาของท่านโพธิธรรม ท่านสามารถเหยียบขึ้นยืนบนต้นอ้อกำนั้นและไม่ตกจมลงไปในน้ำ ด้วยฤทธิ์แห่งอภิญญาที่ท่านสำเร็จ ก็ในขณะที่ท่านกำลังอยู่กลางแม่น้ำแยงซีด้วยอำนาจจิตที่ยิ่งใหญ่ ท่านเสินกวงจึงได้เดินทางมาถึงพอดี และท่านเสินกวงได้เห็นอภินิหารของท่านโพธิธรรมแล้ว จึงก้มหน้าร้องไห้ในความสำนึกผิดแห่งตน และท่านเสินกวงจึงหาทางข้างฝั่งแม่น้ำแยงซี ด้วยการมัดหญ้าคากำใหญ่และพยุงลอยตัวเอง จนข้ามไปยังอีกฝั่งหนึ่งได้อย่างปลอดภัย และเร่งรีบติดตามท่านโพธิธรรมไปอย่างไม่ลดละ

เมื่อท่านโพธิธรรมได้ เดินทางมาถึงเทือกเขาซ่ง แถวบริเวณหมู่บ้านลั่วหยางซึ่งอยู่ใกล้วัดเส้าหลิน ท่านโพธิธรรมจึงได้เข้าพักอาศัย ณ ถ้ำซึ่งมีความเป็นธรรมชาติแห่งหนึ่งซึ่งอยู่แถวบริเวณหลังวัด และท่านก็ตัดสินใจนั่งสมาธิเข้าฌานสมาบัติ โดยนั่งหันหน้าเข้าหาผนังถ้ำ และตัดสินใจที่จะนั่งอยู่อย่างนั้นโดยไม่มีกำหนดออกเลย ท่านนั่งอยู่อย่างนั้นเป็นเวลาถึงเก้าปีโดยไม่ไหวติง มันเป็นระยะเวลานานมากจนกระทั่ง เงาร่างที่ถูกแสงแดดสาดส่องเข้ามาอยู่ตลอดเวลานั้น มันทาบลงไปบนฝาผนังและฝังรอยเป็นเงาอยู่อย่างนั้น ตราบจนสามารถเห็นได้จนถึงทุกวันนี้ ชาวบ้านแถบนั้นเรียกมันว่า "ผนังเงาศิลา"

ท่านเสินกวงเมื่อได้ติดตามท่านโพธิธรรมมา และได้สอบถามชาวบ้านในละแวกนั้น จึงได้รู้ว่าท่านโพธิธรรมได้หลบหนีผู้คนเข้าไปนั่งสมาธิในฌานแล้ว เมื่อเสินกวงตามไปพบและรอคอยท่านโพธิธรรม เพื่อให้ออกมาจากฌานสมาบัติ แต่เมื่อวันเวลาผ่านไปอย่างเนิ่นนานก็ไม่มีวี่แวว ว่าท่านโพธิธรรมจะลุกขึ้นมาจากจุดที่ท่านนั่ง เสินกวงจึงตัดสินใจที่จะรับใช้ดูแลท่านโพธิธรรม อยู่ ณ ภายในถ้ำนั้น โดยท่านเสินกวงมีหน้าที่ดูแลรักษาความสะอาดภายในบริเวณถ้ำ และเมื่อเสร็จภารกิจในแต่ละวันแล้ว ท่านเสินกวงก็จะออกมานั่งคุกเข่าอยู่ที่หน้าถ้ำ โดยท่านเสินกวงจะนั่งตั้งแต่เช้าไปจนจรดเย็นและค่ำมืด ท่านเสินกวงจะนั่งคุกเข่าอยู่อย่างนี้ทุกวัน เพื่อเป็นการขอขมาลาโทษต่อท่านโพธิธรรม และเพื่อรอฝากตัวเป็นศิษย์เพื่อเรียนรู้ธรรมอันแท้จริงกับท่าน

และ แล้วความพยายามของท่านเสินกวงก็ประสพความสำเร็จ ด้วยระยะเวลาแห่งการรอคอยมันผ่านพ้นมานานถึงเก้าปีเต็มๆ ก็ช่วงสายในวันหนึ่งของวันที่ 29 ปีไท่เหอที่สิบ ในขณะที่ภิกษุเสินกวงได้ทำความสะอาดถ้ำและฉันอาหารเสร็จแล้ว จึงได้มานั่งคุกเข่าอยู่หน้าถ้ำ ในช่วงเวลานั้นเป็นช่วงของกลางฤดูหนาว ที่มีหิมะโปรยปรายตกลงมาปกคลุมเต็มอยู่หน้าถ้ำ แต่ท่านเสินกวงก็นั่งอยู่ตรงหน้าถ้ำนั้นมิได้ลุกหนีไปไหน จนหิมะมันได้ท่วมขึ้นมาจนถึงหัวเข่า และแล้วตรงปากถ้ำก็ได้ปรากฏกายของท่านโพธิธรรม ผู้ซึ่งพึ่งออกจากฌานสมาบัติที่ตนได้นั่งเข้าสมาธิแบบลืมวันลืมปี เมื่อท่านโพธิธรรมได้เห็นท่านเสินกวง ผู้ซึ่งเคยทำร้ายร่างกายท่านจนฟันหักถึงสองซี่ ท่านจึงเกิดความสงสารที่เห็นพระรูปนี้มานั่งตากหิมะอยู่หน้าถ้ำ ท่านจึงถามเสินกวงไปว่า "เธอมานั่งคุกเข่าอยู่ท่ามกลางหิมะด้วยมีความต้องการอะไร" เมื่อท่านเสินกวงได้ยินเสียงท่านโพธิธรรมกล่าวดังนั้น ก็มีความปีติยินดีและได้ก้มกราบขอขมาลาโทษ ในการกระทำไม่ดีไม่ควรของตน และก็เอ่ยปากขอร้องให้ท่านโพธิธรรมรับตนเป็นศิษย์ ท่านโพธิธรรมได้ฟังดังนั้นจึงได้พูดตอบท่านเสินกวงไป ด้วยความที่จะทดสอบความเด็ดเดี่ยว ในความตั้งมั่นแห่งศรัทธาที่จะมุ่งมั่นปฏิบัติธรรม ท่านจึงบอกภิกษุเสินกวงไปว่า "ให้นั่งคุกเข่าอยู่เช่นนี้ตลอดไป จนกว่าหิมะที่อยู่ต่อหน้ากองนี้จะกลายจากสีขาวเป็นสีแดง" แต่การทดสอบความมีศรัทธาในหัวใจแห่งพุทธะของเสินกวง กลับไปกระตุ้นอนุสัยซึ่งเป็นเนื้อหาสะสมกรรมวิบากของเสินกวงในอดีตที่มีต่อ ท่านโพธิธรรมครั้งในอดีตชาติที่ผ่านมานับไม่ถ้วน ออกมาให้ได้ชดใช้กรรมกันในขณะนั้น โดยเมื่อเสินกวงได้ฟังท่านโพธิธรรมพูดออกมาดังนั้น กรรมวิบากจึงดลให้ท่านเสินกวงเกิดความหุนหันพลันแล่น คว้าไปหยิบมีดผ่าฟืนซึ่งมีความคมกริบนั้นขึ้นมา เฉือนมือข้างซ้ายของตนจนขาดวิ่น และท่านก็ได้หยิบแขนซ้ายของตนข้างนั้น ที่ตกลงอยู่กับพื้นส่งให้ท่านโพธิธรรม โดยท่านเสินกวงได้กล่าวขึ้นระคนไปด้วยความเจ็บปวดว่า "ท่านพระอาจารย์โปรดรับข้าเป็นศิษย์ด้วย เพราะบัดนี้กองหิมะกองนี้มันได้กลายเป็นสีแดงหมดแล้ว" ก็เพราะด้วยการตัดแขนของเสินกวงซึ่งมีเจตนา จะทำให้เลือดของตนชะล้างความเป็นสีขาวของหิมะออกไปให้หมด เพราะความที่มันถูกกลบไปด้วยความเป็นสีแดงแห่งเลือดตน ที่หลั่งรินไหลออกมานองพื้นเป็นสีแดงฉานไปทั่วบริเวณนั้น มันเป็นเลือดแห่งความเป็นพุทธะ ที่มันพุ่งออกมาจากสายเลือดแห่งความใฝ่ดีของท่าน ที่บ่มเพาะตัวเองด้วยความมีขันติอย่างยิ่ง ในการรอคอยเพื่อก้าวข้ามไปสู่ประตูดินแดน "ธรรมชาติแห่งพุทธะ" ถึงเก้าปีเต็มๆ เป็นการรอคอยที่ใช้ความอดทนด้วยความสิ้นหวังตลอดเวลาที่ผ่านมา เลือดทุกหยดนี้มันจึงเป็นเลือดทุกหยดแห่งเซน ที่มันจะทาบทาไปทั่วผืนแผ่นดินจีน ด้วยเหตุปัจจัยอันเกิดจากภิกษุเสินกวงรูปนี้นั่นเอง

เมื่อท่านโพธิ ธรรมได้ยื่นมือรับแขนของเสินกวง และรับท่านเสินกวงเป็นศิษย์แล้ว ท่านจึงช่วยทำแผลห้ามเลือดให้ ในขณะที่กำลังทำแผลนั้นท่านเสินกวงได้รู้สึกเจ็บปวดขึ้นมา จึงร้องขึ้นมาอย่างดังว่า "พระอาจารย์ช่วยศิษย์ด้วย ศิษย์มีความเจ็บปวดมาก ศิษย์จะทนไม่ไหวอยู่แล้ว จงโปรดช่วยให้ศิษย์เกิดความสงบด้วย" ในขณะนั้นท่านโพธิธรรมจึงหยุดการทำแผล แล้วพูดกับท่านเสินกวงขึ้นมาว่า "เสินกวง เธอจงเอาจิตของเธอออกมาสิ จิตอันเจ็บปวดนั้น แล้วฉันจะทำให้มันสงบ" เสินกวงได้ฟังดังนั้นจึงได้บรรลุธรรมรู้แจ้งชัดในเวลานั้นเอง เพราะแท้จริงจิตมันไม่มีตัวตน และไม่สามารถเอาออกมาแสดงให้กับท่านโพธิธรรมได้ หลังจากเสินกวงได้ทำแผลเสร็จ ท่านโพธิธรรมจึงได้ถ่ายทอดอธิบายธรรมอันคือธรรมชาติที่แท้จริง และในคืนนั้นเองด้วยวิถีแห่งความเป็นธรรมชาตินี้ จึงได้ถูกส่งตรงมายังภิกษุเสินกวง ด้วยความบริบูรณ์พรั่งพร้อมในธรรมชาติของมัน

ด้วยโพธิปัญญาแห่งภิกษุ เสินกวง คือความเป็นเซนในสายเลือด ที่มาพร้อมกับกรรมวิบากที่ต้องใช้คืน แขนซ้ายที่ขาดวิ่นพร้อมกับเลือดที่หลั่งริน คือ "บัวบานกลางหิมะสีแดงฉาน"




“สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ”
“การให้ธรรม ย่อมชนะการให้ทั้งปวง”

ครูสอนเซน
อาจารยฺราเชนทร์ สิมะสุนทร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น