วันศุกร์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2557

นิกายเซน หนังสือ "คำสอนเซน ภาค เซนในสายเลือด ปรมาจารย์ตั๊กม้อ"-บทที่ 12 ความเงียบบนเส้นทางนั้น

บทที่ 12 ความเงียบบนเส้นทางนั้น

พวกเราต่างก็ถูกปกคลุมให้อยู่ใน ฐานะ เป็นบรรดาสรรพสัตว์ที่เกิดมาแล้วต้องตาย ตายแล้วก็ต้องเกิด หมุนเวียนเปลี่ยนถ่ายภพชาติกันไปแบบไม่มีวันจบสิ้น แถมยังล้วนแต่เป็นสรรพสัตว์ที่โง่เขลาอ่อนด้อยทางปัญญา มีอวิชชา ตัณหา อุปาทาน ครอบงำจิตใจเราอยู่ตลอดเวลา ความหลงผิดดังกล่าวทำให้เรามีแต่ความยินดียินร้าย เมื่อมีเหตุและปัจจัยเข้ามากระตุ้น ให้เข้าไปยึดในความมีขันธ์ทั้งห้าเกิดขึ้น ตามโมหะแห่งสรรพสัตว์เราทั้งหลาย

ก็ ขอให้พึงสำเหนียกเอาไว้เลยว่า ความสุขและทุกข์ที่เราได้รับอยู่ตลอดเวลานั้น มันล้วนเกิดจากอวิชชาความไม่รู้ของเราเอง พาเข้าไปมองเห็นแบบเข้าใจผิดว่า "มีขันธ์ทั้งห้าเกิดขึ้น" และอวิชชาความไม่รู้อีกเช่นกัน ก็พาเข้าไปยึดขันธ์ทั้งห้าที่เกิดขึ้นนั้น คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จนปรุงแต่งกลายมาเป็น "จิต" เป็นจิตที่มีแต่เนื้อหายินดียินร้ายไปในทางสรรพสิ่งแห่งมายาของตน ซึ่งเป็นผลพวงจากที่ตนเองเข้าใจผิดต่อความเป็นธรรมชาติดั้งเดิมแท้ ก็ทั้งหมดนี้มันเป็นเพียงสังขารการปรุงแต่งไปตามเหตุและปัจจัย ที่เข้ามาเพียงเท่านั้น แท้จริงแล้วเหตุปัจจัยที่เข้ามา "มันก็หามีไม่" "ความมี" แห่งเหตุและปัจจัยนั้นมันก็หาคงตัวคงที่ถาวรไม่ มันย่อมแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลาเช่นกัน เพราะโดยสภาพตามธรรมชาติของมันแห่งเหตุและปัจจัยที่เข้ามานั้น โดยตัวมันเองมันก็ย่อมไม่มีย่อมไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนของมันอยู่แล้ว เมื่อมันเปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติอันคือคุณลักษณะของมัน มันก็ย่อม "หมดเหตุ" ในเหตุและปัจจัยนั้น เพราะฉะนั้นเราจึงควร ไม่ต้องเข้าไปรู้สึกดีใจหรือเสียใจในสิ่งที่เข้ามา ก็ในเมื่อสิ่งที่เราคิดและอาจประสบพบเจอ มันอาจเป็นเพียงความสำเร็จหรือความล้มเหลว แต่ทั้งสองทางมันก็ล้วนเกิดจาก "จิตที่เราปรุงแต่งขึ้น" เมื่อมันล้วนแต่เป็นเพียงมายาแห่งการปรุงแต่ง สรรพสัตว์ผู้ที่เข้าใจในธรรมชาติแห่งทุกสรรพสิ่งว่า แท้ที่จริงหามีสิ่งใดไม่ ธรรมชาติมันคงปรากฏแต่เนื้อหา แห่งความว่างเปล่าไร้ความหมายแห่งความเป็นตัวเป็นตน มาตั้งแต่แรกเริ่มเดิมทีอันหาจุดเริ่มต้นของมันไม่ได้ และไม่มีวันที่จะมีจุดจบสลายหายไป มันเป็นธรรมชาติที่ว่างเปล่าแบบคงตัวถาวร ตลอดสายถ้วนทั่วทุกอณูธรรมธาตุ ตามเนื้อหาตามสภาพของมันแบบธรรมชาติอยู่อย่างนั้น สรรพสัตว์ผู้ที่มีความตระหนักชัดในความหมายแห่งธรรมชาตินี้ และสามารถซึมซาบกลมกลืนกลายเป็นเนื้อหาเดียวกับมัน "ได้แบบมั่นคง" หามีความหวั่นไหวไปตามมายาอันคือสิ่งที่ถูกปรุงแต่งขึ้น ก็ขึ้นชื่อได้ว่าสรรพสัตว์ผู้นั้นกำลังได้ปฏิบัติธรรม และกำลังเดินไปบนเส้นทางอริยมรรค อันคือหนทางไปสู่ความหลุดพ้น แบบเงียบๆอยู่คนเดียว ในท่ามกลางการใช้ชีวิตประจำวันของตน ต่อสังคมรอบข้างได้อย่างเหมาะสมลงตัว





“สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ”
“การให้ธรรม ย่อมชนะการให้ทั้งปวง”

ครูสอนเซน
อาจารยฺราเชนทร์ สิมะสุนทร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น