
บทที่ 22 ความเพียรพยายาม
ด้วย
ความมีดำริไปในทางที่ชอบแห่งตน ที่จะหนีห่างจากสภาพความทุกข์
หนีห่างจากสภาพการปรุงแต่งทั้งหลาย อันเกิดจากอวิชชา ตัณหา อุปาทาน ทั้งปวง
อันเป็นเหตุให้เราเข้ามาศึกษาทำความเข้าใจในความเป็นตัวเอง
แห่งสภาพความเป็นจริงตามธรรมชาติดั้งเดิมแท้นั้น
การปรับมุมมองความเข้าใจให้ตรงกับความเป็นจริง ซึ่งเป็นทิฐิโดยชอบนั้น
ด้วยการศึกษาจนเกิดความเข้าใจอย่างแจ้งชัดนั้น
มันเป็นความสว่างไสวแห่งปัญญาที่มันเจิดจ้าอยู่อย่างนั้นไม่มีที่ติ
มันเป็นแสงสว่างแห่งความเข้าใจถ้วนทั่ว ครบถ้วนตามกระบวนความ
ในการเข้าใจปัญหาและในการแก้ไขปัญหาเป็นได้อย่างถูกต้อง และตรงต่อหนทาง
ซึ่งเป็นความเข้าใจที่นำพาเรา ไปสู่ความเป็นกลางที่แท้จริงของธรรมชาติ
ซึ่งมันเป็นธรรมชาติที่ปราศจาก ความเคลื่อนไหวใดๆแห่งจิตในลักษณะทั้งปวง
แต่การที่นำพาตนเองมาสู่ความเป็นสัมมาทิฐิอย่างเต็มตัวได้นี้
ยังถือว่าไม่ใช่เป็นความเพียรพยายาม แต่มันเป็นเพียงจุดเริ่มต้นแห่งเส้นทาง
ที่จะนำไปสู่ความเป็นเนื้อหาเดียวกันกับธรรมชาติได้แต่เพียงเท่านั้น
มันจึงเป็นเพียงแต่การดำริชอบ
แต่ด้วยการที่ไม่เข้าใจในความเป็น
สัมมาทิฐิที่แท้จริง
ว่าแท้จริงมันเป็นทิฐิมุมมองความเห็นที่ตรงต่อความเป็นธรรมชาติ
ด้วยความเข้าใจที่ว่า ความเป็นธรรมชาตินั้นมันคือความว่างเปล่า
ไร้ความหมายแห่งความเป็นตัวเป็นตนอยู่แล้วอยู่อย่างนั้น
แบบถ้วนทั่วเสร็จสรรพเด็ดขาด
มันไม่เคยมีแม้กระทั่งขันธ์ธาตุหรือความเป็นขันธ์ทั้งห้า
เกิดขึ้นได้เลยในความเป็นธรรมชาตินี้
มันเป็นธรรมชาติแห่งความว่างเปล่าที่บริบูรณ์เต็มพร้อม
มันเป็นความว่างเปล่าที่สมบูรณ์แบบโดยตัวมันเอง โดยเนื้อหามันเองอยู่แล้ว
เมื่อยังไม่มีความเข้าใจในความหมายอันแท้จริง
ก็ด้วยอวิชชายังปิดบังครอบงำให้เรามองเห็นความหมายที่แท้จริงนี้
ไปในทางความหมายอื่นซึ่งมันไม่ตรงต่อความเป็นจริง
ก็ด้วยความเข้าใจแบบผิดๆนั้น จึงทำให้นักปฏิบัติทั้งหลายเร่งรีบขวนขวาย
นำมาซึ่งวิธีปฏิบัติ ซึ่งมันสามารถจูงใจทำให้นักปฏิบัติทั้งหลาย
คล้อยตามมันไปในวิธีดังกล่าว ก็ในเมื่อความเป็นจริง
ความเป็นธรรมชาติอันคือสัมมาทิฐินั้น
มันเป็นธรรมชาติโดยสภาพเนื้อหาของมันเองอยู่แล้วอยู่อย่างนั้น
ความเป็นธรรมชาติโดยสภาพของมันเอง มันจึง "ไม่ใช่วิธี"
แต่เมื่อนักปฏิบัติทั้งหลายหลงไปว่ามันควรมีวิธีปฏิบัติ
ที่ทำให้ผลแห่งการปฏิบัติ
(ซึ่งแท้ที่จริงมันคือความเป็นธรรมชาติของมันอยู่อย่างนั้น)
มันเกิดขึ้นจากน้ำพักน้ำแรงการลงมือไป
ในความเพียรพยายามของนักปฏิบัติเองนั้น การเข้าใจผิดในความหมายแห่งธรรมชาติ
และการมุ่งทะยานไปข้างหน้า ที่หาเส้นชัยจุดหมายปลายทางไม่เจอ
เพราะวิธีต่างๆที่นักปฏิบัติเข้าใจและน้อมนำมาเป็นทิศทางให้กับตนนั้น
มันไม่ใช่การปฏิบัติที่แท้จริงตามวิถีหนทางแห่งธรรมชาติ แต่มันล้วนคือ
ความหมายแห่งการปรุงแต่งของนักปฏิบัติเอง มันเป็นการปรุงแต่งขึ้นมาเป็นจิต
เป็นจิตที่ปรุงแต่งไปในการปฏิบัติที่ผิดวิธีอยู่อย่างนั้น
การปฏิบัติไปโดยไร้เป้าหมายทิศทาง และออกนอกเส้นทางธรรมชาตินี้
มันจึงเป็นเพียงการปรุงแต่งเป็นจิต ที่พัวพันนำพาให้ตนเองเป็นส่วนหนึ่ง
แห่งการก่อปัญหาขึ้นมาใหม่ต่างหากจากความทุกข์เดิมของตน
ด้วยความโง่เขลาแห่งตนเองด้วยอย่างหนึ่ง การปฏิบัติด้วย "การมีวิธี" นี้
มันจึงไม่ใช่ความหมายของความเพียรพยายามแต่อย่างใดเลย
ก็ด้วยความ
เป็นเราแห่งธรรมชาติดั้งเดิมแท้นี้ มันเป็นธรรมชาติแห่ง "ความเป็นจริง"
ของมันอยู่แล้ว มันเป็น "ความเป็นจริง" ที่ไม่ต้องอาศัยเหตุและผลใดๆ
มาสนับสนุนในความเป็นจริงของมันได้อีกเลย และมันเป็น "ความเป็นจริง"
ที่คงสภาพมันอยู่อย่างนั้น มันเป็น "ความเป็นจริง"
ที่ไม่ได้แสดงเนื้อหาของมัน เพื่อรองรับเหตุผลของใครคนใดคนไหน ว่า
"ความเป็นจริงตามธรรมชาตินี้" คือการรู้แจ้ง คือการหลุดพ้น
ซึ่งเป็นผลของการปฏิบัติของเขาคนนั้นเอง
ความเพียรพยายามที่พยายามอธิบายให้กับตนเองว่า
"ความเป็นจริงตามธรรมชาตินี้" คือภาวะแห่งการรู้แจ้งการหลุดพ้นของตน
ซึ่งตนได้มองเห็นธรรมชาตินี้ได้อย่างทะลุปรุโปร่งถ้วนถี่แล้ว
แต่การเข้าใจอย่างไม่มีที่สงสัยแห่งตน อันเกิดจากความเพียรพยายาม
และภาพแห่งความชัดเจนหมดจดที่ตนเองเรียกว่า
นี่คือการรู้แจ้งและหลุดพ้นแล้วนั้น มันจึงเป็นเพียงปรากฏการณ์แห่ง
"อัตตาตัวตนในความเป็นธรรมชาติ" ที่เกิดขึ้น
มันเป็นเพียงจิตที่ปรุงแต่งเกี่ยวกับ "การที่ตนมีความเข้าใจแล้ว"
ในเนื้อหาธรรมชาติ ที่มันเป็นของมันเองอยู่อย่างนั้น
มันเป็นเพียงการปรุงแต่งชนิดที่เรียกว่าเส้นผมบังภูเขา
มันไม่ใช่ความเพียรพยายามที่แท้จริง
แต่ความเพียรพยายามที่จะทำความ
เข้าใจอย่างตระหนักชัดแจ้ง และ "สามารถ" ซึมซาบกลมกลืน
กลายเป็นเนื้อหาเดียวกันกับธรรมชาติดั้งเดิมแท้
ที่มันว่างเปล่าไร้ความหมายแห่งความเป็นตัวเป็นตน
แบบเสร็จสรรพเด็ดขาดโดยตัวมันเองอยู่อย่างนั้น
เมื่อธรรมชาติดั้งเดิมแท้มันสามารถทำหน้าที่แห่งมัน
ได้อย่างคล่องแคล่วไม่ติดขัด เมื่อเราสามารถเป็นหนึ่งเดียวกับมันได้แล้ว
และสามารถดำรงชีวิตของตนเองได้อย่างมีอิสรภาพอย่างแท้จริง
ไม่ตกอยู่ภายใต้ความมืดมิดใดๆอีก เป็นความสะดวกในการไปและการมา
ในท่ามกลางอิริยาบถทั้งสี่ สามารถดำรงตนเองในสังคมได้อย่างถูกต้องเหมาะสม
และไม่เบียดเบียนใคร มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
สำหรับผู้ที่อยู่รอบข้างและเขายังมีความขาดแคลน ก็ด้วยชีวิตที่ประกอบไป
ด้วยความเมตตากรุณาแห่งคุณธรรม อันเป็นธรรมชาติในความเป็นตนเองนั้น
ที่นำพาชีวิตของตนได้อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข
ใช้ชีวิตอยู่ภายใต้ร่มเงาแห่งบวรพระพุทธศาสนาได้สืบไป
นี่คือความเพียรพยายามที่แท้จริงอย่างยิ่งยวด
“สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ” “การให้ธรรม ย่อมชนะการให้ทั้งปวง”
ครูสอนเซน อาจารยฺราเชนทร์ สิมะสุนทร
|
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น