บทที่ 9 พระมหากัสสปะ
ปิปผลิมาณพ
เกิดในตระกูลกัสสปะเป็นบุตรชายของกปิลพราหมณ์ แต่คนทั่วไปมักเรียกท่านว่า
"กัสสปะ" ตามวงศ์ตระกูลของท่าน เมื่อท่านอายุได้ 20 ปี
ได้ทำการอาวาหมงคลกับนางภัททกาปิลานี ซึ่งเป็นสาวงามวัย 16 ปี
นางเป็นกุลธิดาของพราหมณ์ตระกูลโกลิยะ แห่งเมืองสาคลนคร แคว้นมคธ
ต่อมาทั้งคู่เกิดความเบื่อหน่ายในการครองเรือนใช้ชีวิตคู่
จึงพากันสละทรัพย์สมบัติทั้งหมดให้ญาติและบริวาร
ทั้งคู่จึงพากันออกบวชตามทิฐิของตนเพื่อแสวงหาโมกขธรรม
เมื่อต่างคนต่างโกนผมและนุ่งห่มผ้าย้อมฝาดแล้วและตระเตรียมบริขาร
จึงชวนพากันเดินออกจากหมู่บ้านไป
เมื่อทั้งคู่มาถึงทางสามแพร่งจึงได้ตกลงแยกย้ายกันไป
ปิปผลิไปทางขวาและนางภัททกาปิลานีไปทางซ้าย
ในขณะนั้นพระพุทธองค์ยังไม่ทรงอนุญาต ให้สตรีเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนาได้
นางจึงไปขออยู่ในสำนักปริพาชก ต่อมาเมื่อพระนางปชาโคตมีได้บวชแล้ว
นางจึงได้ตัดสินใจเข้ามาขอบรรพชาอุปสมบท ในสำนักขององค์พระศาสดา
ภายหลังจากนั้นนางได้ศึกษาธรรมกรรมฐานและเจริญวิปัสสนา
ก็ได้บรรลุเป็นอรหัตผล
ส่วนปิปผลิเดินทางไปจนได้พบพระผู้มีพระภาค
เจ้า พระพุทธองค์ทรงเสด็จประทับที่ภายใต้ร่มไทร
ในหนทางระหว่างกรุงราชคฤห์กับเมืองนาลันทา
เมื่อปิปผลิได้เห็นพระพุทธองค์จึงเกิดความศรัทธาเลื่อมใส
พระพุทธองค์จึงได้แสดงธรรมสั่งสอน
และเรียกปิปผลิเข้ามาอุปสมบทไปในคราวเดียวกัน ด้วยทรงพระราชทาน
"โอวาทปฏิคคหณูปสัมปทา" 3 ข้อ
ข้อ 1 กัสสปะ เธอพึงศึกษาว่า
เธอควรตั้งความละอายและความเกรงใจไว้ ในภิกษุทั้งที่เป็นพระเถระ
พระผู้มีพรรษาปานกลาง และพระนวกะผู้บวชใหม่
ข้อ 2 กัสสปะ เธอพึงศึกษาว่า เธอควรตั้งใจฟังธรรมบทใดบทหนึ่งด้วยความเคารพ และพิจารณาจดจำทำความเข้าใจเนื้อความแห่งธรรมบทนั้น
ข้อ 3 กัสสปะ เธอพึงศึกษาว่า เธอจะไม่ละสติไปในกาย
เมื่อ
ท่านกัสสปะได้รับโอวาท และบวชเป็นพระภิกษุต่อหน้าพระพุทธองค์แล้ว
จึงได้หลีกเร้นทำความเพียร ก็ด้วยกุศลกรรมอันคือจริตของภิกษุกัสสปะ
ที่เคยสั่งสมมาในการพิจารณาถึง ความไม่เที่ยงแห่งกาย
ความไม่ยั่งยืนอยู่แห่งความเป็นขันธ์ธาตุ แม้กระทั่งในชาติสุดท้ายนี้เอง
ท่านก็มีความเบื่อหน่ายในกายในสังขารของท่าน
ก็เป็นเหตุให้ท่านได้ทิ้งการครองเรือนเพื่อมาบวช
เพราะท่านเกิดความเบื่อหน่ายในชีวิตคู่
จนถึงกับทำให้ท่านนอนหันหลังให้กับภรรยาของตนทุกคืน
ไม่เคยมีความยุ่งเกี่ยวจับเนื้อต้องตัวภรรยาในฐานะที่ตนเองเป็นสามีเลย
ด้วยจริตนี้ พระพุทธองค์จึงทรงให้โอวาทเป็นธรรม
เพื่อให้ภิกษุกัสสปะนำมาพิจารณา คือ ให้พึงมีสติไปในกาย
ก็อันว่า
ด้วยกายนี้ เป็นเพียงการประกอบเข้าแห่งขันธ์ธาตุ คือ ธาตุทั้งสี่ ดิน น้ำ
ลม ไฟ และขันธ์ห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
พระพุทธองค์ทรงให้ภิกษุกัสสปะ
พึงมีธรรมชาติแห่งการระลึกรู้อยู่อย่างนั้นว่า แท้จริงความเป็นขันธ์ทั้งห้า
มันย่อมไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนอยู่แล้ว
ขันธ์ทั้งห้าที่เกิดขึ้นย่อมตั้งมั่นเป็นตัวเป็นตนอยู่ได้ไม่นาน
มันย่อมแปรปรวนไป
มันย่อมมีความไม่เที่ยงแท้แน่นอนในความที่เข้าไปยึดเป็นตัวเป็นตน
แท้จริงขันธ์ทั้งห้านี้ย่อมไม่มีตัวตน ตามธรรมชาติแห่งความเป็นจริง
มันย่อมไม่เคยมีขันธ์ทั้งห้าเกิดขึ้นมาก่อน
ธรรมชาติมันย่อมมีแต่ความว่างเปล่า
ไร้ความหมายแห่งความเป็นตัวเป็นตนอยู่อย่างนั้น ตามธรรมชาติของมันอยู่แล้ว
เมื่อ
ภิกษุกัสสปะได้น้อมนำธรรมที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสสอน
และได้เห็นตามความเป็นจริงเข้าใจอย่างตระหนักชัดแจ้งแล้วว่า
แท้จริงกายนี้ก็ได้แต่เพียงอาศัยเพื่อดำรงชีวิตอยู่
แท้จริงการที่เรายังเห็นว่า กายนี้คือเรา
เพราะเราหลงไปเห็นว่ามันมีความเกิดขึ้นแห่งขันธ์ธาตุทั้งหลาย คือ รูป เวทนา
สัญญา สังขาร วิญญาณ และหลงเข้าไปยึดมั่นถือมั่นสำคัญผิดว่า นี่คือเรา
นี่คือกายเรา นี่คือความเป็นเรา
เมื่อภิกษุกัสสปะเข้าใจตรงต่อความเป็นจริงแล้วว่า
มันเป็นเพียงปรากฏการณ์เกิดขึ้นแห่งกายที่หลงเข้าไปยึด
แท้จริงขันธ์ทั้งห้าหามีความเป็นตัวตนไม่
แท้จริงขันธ์ทั้งห้าย่อมเป็นความว่างเปล่า ตามธรรมชาติของมันอยู่อย่างนั้น
แท้จริงธรรมชาติมันคงมีแต่ความว่างเปล่า ไร้ความหมายแห่งความเป็นตัวเป็นตน
ตามธรรมชาติของมันอยู่อย่างนั้นอยู่แล้ว
เมื่อภิกษุกัสสปะได้ตระหนักอย่างชัดแจ้ง และได้รู้แจ้งในธรรมชาติแล้ว
ท่านก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ในวันที่แปด
นับแต่ท่านได้เข้ามาบวชเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา
เมื่อภิกษุกัสสปะได้
บรรลุธรรมแล้ว จึงได้มีความขวนขวายสั่งสอนธรรมแก่ภิกษุและพุทธบริษัทอื่นๆ
จนกระทั่งท่านเป็นพระอาจารย์ที่มีลูกศิษย์
เข้ามาปฏิบัติธรรมด้วยเป็นจำนวนมาก และภิกษุกัสสปะนี้ท่านมีศรัทธา
ที่จะรักษาประพฤติข้อวัตรแห่งธุดงค์ ท่านจึงตั้งใจสมาทานไว้ 3
ประการอย่างเคร่งครัด คือ
1. การถือเอาการนุ่งห่มผ้าบังสุกุลเป็นข้อวัตร 2. การถือเอาการบิณฑบาตเป็นข้อวัตร 3. การถือเอาการอยู่ป่าเป็นข้อวัตร
การ
ถือข้อวัตรเหล่านี้ด้วยความเคร่งครัด
เพื่อที่จะให้เป็นแบบอย่างแก่ภิกษุรุ่นหลังๆ
ตามเจตนารมณ์ของภิกษุกัสสปะท่าน พระพุทธองค์จึงตรัสสรรเสริญและยกย่องท่าน
ให้เป็นภิกษุผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ในทางเป็นภิกษุผู้ทรงธุดงควัตร
และต่อมาพุทธบริษัททั้งหลายได้เรียกชื่อท่านว่า "พระมหากัสสปะ"
ครั้ง
หนึ่งพระมหากัสสปะได้เข้าเฝ้าพระพุทธองค์
และพระองค์มีความประสงค์ที่จะทรงทอดพระวรกาย เพื่อบรรทมในท่าสีหไสยาสน์
พระมหากัสสปะจึงได้ถอดผ้าจีวรสังฆาฏิของตนออก
แล้วพับเป็นสี่ชั้นเพื่อให้พระพุทธองค์ทรงสีหไสยาสน์
เมื่อพระพุทธองค์ทรงทอดพระวรกายแล้วจึงกล่าวขึ้นว่า "กัสสปะ
ผ้าสังฆาฏิของเธอมีความนุ่มดี" พระมหากัสสปะจึงพูดว่า
"ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ขอพระองค์จงโปรดเอาไปใช้สอยเถิด พระเจ้าข้า"
พระพุทธองค์จึงทรงถวายผ้าสังฆาฏิของพระองค์
ประทานให้แก่พระมหากัสสปะไว้ใช้สอยเช่นกัน
ก็ผ้าสังฆาฏิผืนนี้พระมหากัสสปะได้เอามาใช้สอย
และไม่เคยเปลี่ยนสังฆาฏิอีกเลย ครั้งเมื่อพระพุทธองค์เสด็จปรินิพพาน
บริขารทั้งหลายของพระพุทธองค์นั้น ถูกเก็บรักษาไว้ด้วยพระเถระ
มีผู้กล่าวกันต่อมาว่า
พระมหากัสสปะได้เอาบาตรของพระพุทธองค์มาเก็บเอาไว้ด้วย
ต่อมาพระ
พุทธองค์ได้เสด็จดับขันธปรินิพพาน และหลังจากถวายพระเพลิงพระบรมศพแล้ว
ท่านพระมหากัสสปะได้ชักชวนพระเถระผู้เป็นพระอรหันต์
ประชุมกันทำปฐมสังคายนารวบรวมพระธรรมวินัย ตั้งไว้เป็นหมวดหมู่
เพื่อเป็นตัวแทนองค์พระบรมศาสดาปกครองหมู่สงฆ์ต่อไป
สาระสำคัญของปฐมสังคายนา
1. พระมหากัสสปะเถระ เป็นประธาน มีหน้าที่ซักถามเกี่ยวกับพระธรรมวินัย 2. พระอุบาลี เป็นผู้ชี้แจงเกี่ยวกับขอบัญญัติพระวินัย
3. พระอานนท์ เป็นผู้ชี้แจงเกี่ยวกับพระสูตร
4. กระทำที่ถ้ำสัตตบรรณคูหา แห่งภูเขาเวภารบรรพต กรุงราชคฤห์
5. พระเจ้าอชาตศัตรู เป็นองค์ศาสนูปถัมภก
6. กระทำอยู่ ๗ เดือน จึงสำเร็จ
พระมหากัสสปะเถระ เมื่อทำหน้าที่เป็นประธาน
ในการทำปฐมสังคายนาแล้ว ได้พักอยู่ที่พระเวฬุวันมหาวิหาร กรุงราชคฤห์ ดำรงอยู่ถึง ๑๒๐ ปี
ก่อน
ที่ท่านจะนิพพาน ๑ วัน ท่านได้ตรวจดูอายุสังขารของท่านแล้ว
ทราบว่าจะอยู่ได้อีกเพียงวันเดียวเท่านั้น
ท่านจึงประชุมบรรดาภิกษุผู้เป็นศิษย์ของท่าน แล้วให้โอวาทเป็นครั้งสุดท้าย
สั่งสอนภิกษุผู้ยังเป็นปุถุชนมิให้เสียใจกับการจากไปของท่าน
ให้พยายามทำความเพียรและอย่าประมาท
แล้วพระเถระก็เข้าไปถวายพระพรลาพระ
เจ้าอชาตศัตรู จากนั้นท่านได้พาหมู่ภิกษุไปยังภูเขากุกกุฏสัมปาตบรรพต
แสดงอิทธิปาฏิหาริย์ และให้โอวาทแก่พุทธบริษัทแล้ว
อธิษฐานจิตขอให้ภูเขาทั้งสามลูกมารวมเป็นลูกเดียวกัน
ซึ่งในภูเขาทั้งสามลูกนั้น
มีภูเขาเวภารบรรพตสถานที่ทำปฐมสังคายนารวมอยู่ด้วย
แล้วท่านก็ดับขันธ์เข้าสู่พระนิพพาน ณ ที่นั้น
ท่านยังอธิษฐานขอให้สรีระของท่านยังคงสภาพเดิมไม่สูญสลาย จนกระทั่งพระศาสนาพระศรีอาริยเมตไตรย
ซึ่ง
พระองค์จะพาหมู่ภิกษุสงฆ์มายังภูเขากุกกุฏสัมปาตบรรพตแล้ว
ยกสรีระของพระเถระวางบนพระหัตถ์ขวาชูขึ้น ประกาศสรรเสริญคุณของพระเถระแล้ว
เตโชธาตุก็จะเกิดขึ้นเผาสรีระของท่าน
บนฝ่าพระหัตถ์ของพระศรีอาริยเมตไตรยพุทธเจ้านั้น
หลังจากที่พระมหา
กัสสปะดับขันธ์เข้าสู่นิพพานแล้ว
สังฆาฏิและบาตรของพระพุทธองค์ที่พระมหากัสสปะได้เก็บไว้นั้น
ก็ได้ถูกส่งต่อสืบทอดกันมาในหมู่คณาจารย์
ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของพระมหากัสสปะท่าน การครอบครองบาตรและจีวร
เป็นการได้ครองด้วยการสืบทอดธรรมอันเป็นธรรมชาติ
ด้วยการชี้ตรงผ่านสู่ใจต่อใจ เป็นการถ่ายทอดธรรมให้แก่กันเป็นรุ่นๆ
มิให้ขาดสายไป
“สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ”
“การให้ธรรม ย่อมชนะการให้ทั้งปวง”
ครูสอนเซน
อาจารยฺราเชนทร์ สิมะสุนทร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น