บทที่ 41 กรรม
อวิชชา ตัณหา อุปาทาน แห่งตนย่อมพาสร้างกรรม
แต่กรรมมิได้เป็นผู้สร้างคน
เพราะคนคือธรรมชาติที่เป็นมาอยู่อย่างนั้นอยู่แล้ว
เพราะเขาพากันก่อกรรมต่างๆ
และต้องรับผลแห่งกรรมนั้นไปบนหนทางที่ไม่มีวันสิ้นสุด
ความเป็นคนไม่เคยพ้นเส้นทางกรรม
มีแต่คนที่รู้จักตนเองในความเป็นธรรมชาติแห่งตนที่ได้เกิดมา
คนเหล่านี้ได้เดินไปบนมรรคแห่งความเป็นธรรมชาติแล้ว
ย่อมไม่สร้างกรรมในชีวิตนี้และไม่ต้องรับผลกรรม
บุคคลผู้เดินอยู่บนมรรคอันบริบูรณ์ถึงพร้อมนี้
อาจสร้างกรรมด้วยการกระทำแสดงออก
แต่บุคคลเหล่านี้ก็มิได้สร้างความเป็นตัวเอง ในความเป็นตัวตนในการกระทำนั้น
ปุถุชนผู้ชอบทำกรรมและยืนยันอย่างผิดๆต่อความเป็นจริงว่า
"กรรมที่ทำย่อมไม่มีผลตอบสนอง" ก็ในเมื่อพวกเขาคิดเช่นนี้
หากกรรมเหล่านั้นให้ผลตอบสนอง พวกเขาจะทนทุกข์ได้หรือไม่
เขาไม่สามารถรู้ได้เลยว่าจิตปัจจุบันของเขาเองได้สั่งสมกรรมอะไรมา
สภาพจิตที่เกิดขึ้นด้วยการยึดมั่นถือมั่น ด้วยเหตุและปัจจัยในกาลข้างหน้า
ก็ย่อม "เก็บเกี่ยวผล" มีความเกี่ยวข้องกับผลกรรมนั้นอีกต่อไป
และพวกเขาก็ต้องเผชิญหน้ากับกรรมเหล่านี้
เพราะพวกเขายังไม่มีความเป็นอิสระอย่างแท้จริงตามธรรมชาติ
พวกเขาจะหลบหลีกผลกรรมนั้นได้อย่างไร แต่ถ้าความเป็นจริง
พวกเขาได้รู้จักความเป็นธรรมชาติแห่งพุทธะของตน
และเป็นอิสระอยู่นอกเหนือกรรม จิตอันเป็นปัจจุบันของพวกเขา
ก็เป็นจิตที่เป็นธรรมชาติแห่งพุทธะ แล้วสภาวะจิตของพวกเขาในวันข้างหน้า
ก็คงเป็นจิตที่เป็นธรรมชาติเช่นนี้อยู่เหมือนเดิม
จึงเป็นจิตที่ไม่สามารถสั่งสมกรรมได้อีกต่อไป
ในพระสูตรกล่าวว่า
แม้ชาวพุทธจะมีความเลื่อมใสในความเป็นพระพุทธเจ้า
แต่ชาวพุทธเหล่านี้ก็มองความเป็นพระพุทธเจ้าไปแบบผิดๆ
พวกเขาเข้าใจว่ามีเพียงความเป็นพระพุทธเจ้าเท่านั้น
ที่ปฏิบัติอย่างเคร่งครัด และยังคิดเลยเถิดไปไกลอีกว่า
พระพุทธเจ้าเป็นผู้บันดาลให้เกิดโชคลาภ พวกนี้ไม่อาจเข้าใจในความหมาย
แห่งความเป็นพระพุทธเจ้าที่แท้จริงได้
พวกนี้เป็นมิจฉาทิฐิไม่อาจเชื่อถือได้ คนที่เข้าใจคำสอนแท้จริงของบัณฑิต
ก็สามารถกลายเป็นบัณฑิตได้
คนที่เข้าใจคำสอนของปุถุชนและถูกครอบงำให้ปฏิบัติตาม เขาก็เป็นปุถุชน
บุคคลผู้มีความเป็นบัณฑิตย่อมมองหาคนที่รู้ถึงความเป็นจริง
และสามารถสั่งสอนเขาได้
ในพระสูตรกล่าวว่า
"อย่าสอนธรรมอันแท้จริงให้แก่คนที่ไม่เข้าใจ" และยังมีข้อความอีกว่า
"ใจซึ่งคือความเป็นธรรมชาติแห่งพุทธะนั้น คือ คำสอน"
คนที่ไม่เข้าใจธรรมชาติเขาย่อมมีความยึดมั่นถือมั่นในทิฐิของเขา
และเมื่อพวกเขาปฏิเสธความจริงอันคือธรรมชาตินี้
การปฏิเสธจะทำให้พวกเขาหันหลังให้กับความจริง
ด้วยทิฐิที่พวกเขาพยายามก้าวเดินไปในหนทางอื่นอันหลงทาง
ไม่อาจหวนกลับมาสู่ความจริงได้ เมื่อเขายังไม่เข้าใจเราก็ยังไม่ควรสอนเขา
การสอนโดยขาดความศรัทธาความเชื่อในความเป็นจริงตามธรรมชาติ
ย่อมก่อให้เกิดผลเสียตามมาอย่างมากมาย คนพาลผู้ขาดปัญญาเหล่านี้
ย่อมชอบหาความรู้ไกลความเป็นจริงแห่งตัวเองออกไป
และเป็นการหาความรู้ที่ไม่ก่อประโยชน์อันใด เช่น ใฝ่หาเอากับพระพุทธรูป
ธูปเทียนและแสงสีเป็นต้น พวกเขายอมให้จิตของเขาถูกกดขี่ไปด้วยอำนาจอวิชชา
แห่งการสวดมนต์อย่างหลงใหล และยอมเสียความเป็นธรรมชาติแห่งจิตของตนเอง
ไปกับสิ่งเหลวไหลไร้สาระ
พระสูตรกล่าวว่า
"เมื่อท่านเห็นปรากฏการณ์ทั้งปวงไม่เป็นปรากฏการณ์ ท่านย่อมเห็นตถาคตเจ้า"
ประตูที่นำไปสู่สัจจะความเป็นจริงนั้นเป็นหมื่นเป็นแสน
ทุกๆประตูเหล่านี้ก็สงบออกมาจากจิต
เมื่อปรากฏการณ์แห่งจิตก็มิใช่จิตที่แท้จริง
มันเป็นเพียงปรากฏการณ์ที่มิได้เกิดขึ้นเป็นตัวตนที่แท้จริงแต่อย่างใด
มันย่อมเลือนหายไปเหมือนมิได้ปรากฏขึ้นมาก่อนเลย
มันจึงเป็นปรากฏการณ์ที่มิใช่ปรากฏการณ์ เมื่อปุถุชนมีชีวิตอยู่
เขาย่อมกังวลถึงความตาย และเมื่อพวกเขามีชีวิตที่สมบูรณ์พูนสุข
พวกเขาก็กังวลถึงความหิว ที่เป็นเช่นนี้เพราะพวกเขาใช้ชีวิต
ด้วยความอยากแห่งอวิชชา ตัณหา อุปาทาน อยู่ตลอดเวลา
ผู้รู้แจ้งย่อมมีชีวิตอยู่เพื่อรอสัจธรรมแห่งชีวิตคือความตาย
ผู้รู้แจ้งเมื่อชีวิตเขามีความสุข
พวกเขาก็มีความสุขที่แท้จริงแห่งสัจธรรมตามธรรมชาติ
เขาย่อมไม่มีความกังวลใดๆ เมื่อหิวเขาก็ย่อมกิน เมื่อง่วงเขาก็ย่อมนอน
ชีวิต
ของปุถุชนคือชีวิตที่แปรผันไปตามเหตุและปัจจัยอยู่เสมอ
แต่ชีวิตของบัณฑิตผู้ที่เดินบนมรรค ย่อมไม่กังวลถึงอดีต และไม่คิดถึงอนาคต
และไม่ยึดติดอยู่กับความเป็นปัจจุบัน
จิตอันคือธรรมชาติของบัณฑิตเหล่านี้ย่อมเป็นอิสระอย่างแท้จริง
ย่อมอยู่นอกเหนือการไปการมาแห่งทุกห้วงของกาลเวลา
ถ้าท่านเป็นผู้มืดบอดหลงอยู่ในวังวนแห่งชีวิตตนเอง
ก็ขอให้ท่านรีบตื่นออกมาจากความหลับใหล แล้วหันหน้ามาเผชิญต่อความเป็นจริง
อย่าหมกมุ่นอยู่กับชีวิตอันขาดสติของตนอีกต่อไป
“สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ”
“การให้ธรรม ย่อมชนะการให้ทั้งปวง”
ครูสอนเซน
อาจารยฺราเชนทร์ สิมะสุนทร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น