บทที่ 13 วิถีที่เรียบง่าย
โลกตามความเป็นจริง
มิได้หมายถึงผืนแผ่นดินที่มีรูปทรงกลมและมีมหาสมุทรโดยรอบ
แต่โลกตามความหมายแห่งตถาคตเจ้า
คือโลกที่ถูกรับรู้ด้วยอายตนะและขันธ์ธาตุอันประกอบเป็นร่างกายขึ้น
คือโลกในความเป็นมโนภาพในโครงสร้างแห่งความเข้าใจ
แห่งมนุษย์ทั้งหลายตามความรับรู้แห่งตน
ก็โดยสรรพสัตว์ทั่วไปย่อมใช้ชีวิตตามอำเภอใจ
ดำรงชีวิตไปตามที่ใจของตนปรารถนา
จึงเป็นความปกติที่พื้นฐานของชีวิตมนุษย์ทุกตัวตน
ย่อมดิ้นรนแสวงหาความสุขมาปรนเปรอบำเรอให้กับชีวิตของตน
ตามที่ตนเองตั้งความหวังเท่าที่ตนจะหวังได้อยู่ร่ำไป
แต่ด้วยลักษณะกรรมที่ตนเองเคยประกอบทำไว้ในอดีตชาติที่ผ่านมา
ด้วยความมืดมัวแต่เก่าก่อนที่เคยทำไปแบบผสมปนเป
เป็นเนื้อหากรรมที่เป็นไปในทางความสุขบ้างความทุกข์บ้าง
คละเคล้ากันไปตามอำนาจแห่งความมืดแห่งหัวใจตน
ก็ด้วยการเกิดขึ้นมาบนโลกใบนี้มันเป็นการใช้กรรมและการสร้างกรรม
ด้วยเหตุผลดังกล่าวทั้งหมดข้างต้น
มันจึงเป็นไปไม่ได้เลยที่ทุกคนจะประสบแต่ความสุขแต่ฝ่ายเดียว
ความสุขที่ได้เสพนั้น เมื่อวาระแห่งกาลเวลาที่ต้องใช้กรรมชนิดนี้หมดไป
ด้วยเหตุผลที่ว่ามีกรรมชนิดใหม่ๆต้องเข้ามาแทนที่
ตามหน้าที่แห่งความเป็นไปตามระบบกรรมวิสัยนั้น
และอีกทั้งโดยสภาพตามความเป็นจริงตามธรรมชาติ
ย่อมไม่มีสิ่งใดๆที่จะตั้งอยู่ในสภาพนั้นๆในความรู้สึกนั้น
แบบคงที่ถาวรได้ตลอดไป เพราะธรรมชาติคือความว่างเปล่า
ไม่อาจมีรูปทรงใดๆหรือสิ่งไหนตั้งอยู่ในสภาพของมัน
ได้อยู่อย่างนั้นได้ตลอดไปในความว่างเปล่าได้เลย
เมื่อปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น
มิใช่ปรากฏการณ์ที่ยั่งยืนอย่างแท้จริงตามธรรมชาติ
ปรากฏการณจึงย่อมมิใช่ปรากฏการณ์ ปรากฏการณ์ทั้งหลายนั้นจึงย่อมเป็นมายา
เสมือนเป็นพยับแดดที่ระเหือดระเหยหายไป ในชั่วพริบตาแห่งความรู้สึก
ความสุขที่ไขว่คว้าจึงมิได้มีความจีรังยั่งยืนแต่อย่างใด
แต่เมื่อเหตุและผลตามความเป็นจริงแห่งธรรมชาตินี้
ถูกกลบไปด้วยความรู้สึกที่ยึดมั่นบนพื้นฐานแห่งความไม่เข้าใจ
สรรพสัตว์ในคราบมนุษย์ทั้งหลาย
จึงดำเนินชีวิตของตนไปในบรรดาความรู้สึกต่างๆที่ตนเองเคยชิน
เป็นความเคยชินในความชอบที่หมกอยู่ในกมลสันดานแห่งจิตตน
ความเคยชินที่เป็นความสั่งสมแบบแนบแน่น ชนิดที่เรียกว่า เราคือมัน
มันคือเรา ก็จะพาให้เรากลายเป็นหนึ่งเดียวกับโลกแห่งมายาในสามภพ คือ มนุษย์
สวรรค์ นรก ความแนบแน่นดังกล่าวก็จะดลบันดาลด้วยอำนาจแห่งมัน
พาเราไปเวียนว่ายตายเกิดในภพในเรือนทั้งสามนี้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด
แท้
จริงความเป็นเราย่อมไม่มี แท้จริงความเป็นขันธ์ธาตุย่อมไม่มี
ขันธ์ธาตุนั้นโดยตัวมันเองย่อมเป็นความว่างเปล่า
ไม่มีอะไรที่จะเข้าไปยึดถือจนก่อให้เกิดความเป็นตัวตนได้
ความเป็นจริงไม่เคยมีขันธ์ธาตุเกิดขึ้นมาก่อน
หากกล่าวว่ามีขันธ์ธาตุเกิดขึ้น
มันก็เป็นการเกิดขึ้นแห่งขันธ์ธาตุด้วยความมีโมหะแห่งเราเอง
จึงปรากฏความเป็นขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
เกิดขึ้นในความรับรู้ และยึดเอาขันธ์ธาตุนั้นคือเรา
มีความหมายในความเป็นตัวเป็นตนแห่งเรา
เพราะความเข้าไปยึดด้วยเหตุแห่งอวิชชาความไม่รู้
แต่ด้วยความเป็นจริงขันธ์ธาตุที่เราเข้าไปอาศัยและยึดมั่นถือมั่นมัน
มันมีความเสื่อมโทรมมีความแก่ชรา มีความแปรเปลี่ยนไปในรูปทรงของมัน
แปรเปลี่ยนไปในลักษณะที่จะพลัดพรากจากไป
ด้วยความคงตัวรูปทรงเดิมของมันเอาไว้ไม่ได้ ขันธ์ธาตุหรือกายนี้
จึงเปรียบประดุจเรือนที่เราได้พักพิงอาศัยชั่วคราว
ความแปรปรวนของมันเปรียบเสมือนเรือนที่กำลังถูกไฟไหม้
ให้สูญสลายมอดหายไปในทุกกาลเวลานาที เมื่อถึงเวลาที่ต้องอำลาจากกันไป
ขันธ์ธาตุที่มาประชุมกันเป็นรูปกายเราเป็นอวัยวะต่างๆ
มันก็พร้อมทำหน้าที่แห่งมัน เป็นหน้าที่ที่ต้องแยกย้ายสลายออกจากกัน
ไปสู่ความเป็นธาตุเดิมของมัน คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ แม้กระทั่ง ดิน น้ำ ลม ไฟ
ก็ย่อมสลายหายไปอีกเช่นกันหามีตัวตนไม่
จึงเป็นการจากไปเพื่อกลับคืนสู่ฐานะดั้งเดิมตามธรรมชาติอย่างแท้จริง
เป็นธรรมชาติที่คงปรากฏการณ์ "ความว่างเปล่า"
ไร้ความหมายแห่งความเป็นตัวเป็นตน อยู่อย่างนั้นมาเป็นเวลานานแสนนานแล้ว
เมื่อความเป็นจริงตามกฎธรรมชาติมันเป็นเช่นนี้
สรรพสัตว์มนุษย์ผู้มืดบอดและไม่ยอมเข้าใจในกฎธรรมชาตินั้น
จึงเอาความเคยชินซึ่งเป็นความทะยานอยากแห่งตน
วิ่งไล่จับคว้าเงาของตนเองในความมืดอยู่อย่างนั้น
เมื่อทุกสรรพสิ่งย่อมไม่มีตัวตนโดยตัวมันเองอยู่แล้ว การได้มาหรือการจากไป
บนพื้นฐานความรู้สึกนั้นๆในความยึดมั่น
จึงย่อมเป็นการกระทำที่เหนื่อยเปล่าและหาสาระอะไรไม่ได้เลย
เพราะ
ธรรมชาติคือความเป็นจริงที่ไม่ซับซ้อน เป็นความเรียบง่ายในวิถีแห่งมัน
ในความว่างเปล่าไร้ตัวตน สรรพสัตว์ทั้งหลาย
จงละทิ้งความซับซ้อนยุ่งเหยิงและความเหนื่อยหน่าย
แห่งความมีความเป็นที่นำพาชีวิตของสรรพสัตว์
ให้โลดแล่นไปตามความทะยานอยากทั้งหลายเสีย
แล้วหันหน้ามาทำความเข้าใจกับความจริงให้ตรงต่อความเป็นธรรมชาติ
ซึ่งมันเป็นเหตุและผล แบบเรียบง่ายไม่ซับซ้อนในความเป็นจริงแห่งตัวมันเอง
แล้วธรรมชาตินั้น ก็จะพาท่านดำรงชีวิตไปบนวิถีที่เรียบง่ายแห่งมัน
แต่ความเรียบง่ายนี้กลับเป็นความสุขที่ยืนยาวอย่างแท้จริง
ตราบชั่วนิจนิรันดรในอมตธรรมนั้น
“สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ”
“การให้ธรรม ย่อมชนะการให้ทั้งปวง”
ครูสอนเซน
อาจารยฺราเชนทร์ สิมะสุนทร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น